หมดยุคสำหรับศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง

ปริศนาที่หาคำตอบได้ยาก: เราจะสร้างศูนย์ข้อมูลที่ทำงานได้เร็วขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร

โดย Tai Yeap Wai, Regional Head of Data Centre Solutions, ABB Asia Pacific

ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ที่จุดสูงสุดของการระบาดของ COVID-19 ครั้งใหญ่ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่ใช่การเพิ่มขึ้นสูงสุด

มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีใหม่อย่าง 5G และ IoT จะมีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว ส่งผลให้ความต้องการศูนย์ข้อมูลพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้กำลังทำให้อุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลได้รับความสนใจในประเด็นเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งคิดเป็น 1-2% ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบว่ามีผู้ใช้งานระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกสูงถึง 40 ล้านคนในปี พ.ศ. 2563 และถูกคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับศูนย์ข้อมูลโคโลเคชั่นภายในอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม มีความคาดหมายว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันไป

ในภูมิภาคเอเชีย ค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คือ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์และ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์จะมีความเสี่ยงทุกปีเนื่องจากความร้อนและความชื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 2 ใน 3 ของผลกระทบของ GDP ทั่วโลกประจำปีทั้งหมด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ภูมิภาคเอเชียไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเสี่ยงและผลกระทบที่ร้ายแรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

เมื่อตระหนักถึงสิ่งนี้ ประเทศต่างๆทั่วเอเชียตั้งแต่สิงคโปร์จนถึงญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้เปิดเผยแผนปฏิบัติการด้านสภาพอากาศที่มุ่งหวังเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆของตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ที่เพิ่งออกประกาศเลื่อนการติดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ท่ามกลางความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น — การพัฒนาที่น่าเป็นห่วงซึ่งเน้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความกังวลด้านความยั่งยืนในขณะนี้ หรือไม่เพียงแต่ความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของศูนย์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมดที่ต้องพึ่งพาข้อมูลที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหลักของระบบเลยทีเดียว

นอกเหนือจากผู้กำหนดนโยบายแล้ว ธุรกิจต่างๆยังให้ความสนใจในเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคและพนักงานจำนวนมากขึ้นที่ต้องการให้องค์กรต่างๆ ดำเนินการให้ดียิ่งขึ้นในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคนี้เกิดขึ้นเมื่อวิกฤต COVID-19 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกพื้นที่ของเอเชีย ทำให้หลายภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันเพิ่มมากขึ้นว่า ธุรกิจต่างๆ ควรแบกรับความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาหลายชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะช่วยขับเคลื่อนผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้น ความยั่งยืนจะกลายเป็นหลักการสำคัญที่ธุรกิจต่างๆ จะใช้ดึงดูดผู้มีความสามารถสูง การส่งเสริมการตลาด การโน้มน้าวผู้บริโภค และการลงทุนที่ปลอดภัย

เมื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหลักการสำคัญที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและธุรกิจทุกรูปแบบ ศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานอย่างมหาศาลก็จะถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นเท่านั้น อุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลกำลังเผชิญกับปริศนาที่หาคำตอบได้ยาก - เราจะสร้างศูนย์ข้อมูลให้ทำงานได้เร็วขึ้นและใหญ่ขึ้น แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร ผมเชื่อว่ากุญแจสำคัญคือ การสร้างศูนย์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดขึ้น

ศูนย์ข้อมูลต้องมองหาโซลูชันและเทคโนโลยีอัจฉริยะใหม่ๆ

ประสิทธิภาพการใช้พลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของศูนย์ข้อมูล อันที่จริงก็คือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การปรับปรุงพัฒนาอย่างรวดเร็วในเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานสามารถแซงหน้าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของศูนย์ข้อมูลได้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พลังงานที่ศูนย์ข้อมูลใช้ไปนั้นค่อนข้างคงที่ แม้ว่าปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า และปริมาณงานของศูนย์ข้อมูลก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวก็ตาม

แต่เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ปัจจุบันนี้ศูนย์ข้อมูลจำเป็นต้องมองหาโซลูชันใหม่ๆ ในการออกแบบจะต้องพิจารณาเรื่องของการเชื่อมต่อและความเป็นอัจฉริยะ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการจัดการพลังงานและประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้น

NextDC ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูลสัญชาติออสเตรเลีย กำลังดำเนินการตามขั้นตอนที่ว่านี้ โดยได้นำระบบศูนย์ข้อมูลอัตโนมัติของ ABB (ABB’s Data Center Automation System) ไปใช้ภายในศูนย์ฯ ด้วยวิธีนี้ ทำให้ NextDC สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงาน การระบายความร้อน และการวัดประสิทธิภาพอื่น ๆภายใต้ระบบเดียวเท่านั้น ทำให้สามารถคาดการณ์และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้

ระบบอัจฉริยะดังกล่าวจะมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค 5G และ IoT ซึ่งจะต้องการการตอบสนองที่รวดเร็วขึ้นและความสามารถในการคาดการณ์ที่มากขึ้น เพื่อช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ลองจินตนาการถึงอนาคตที่รถยนต์ไร้คนขับถูกใช้งานกันเป็นเรื่องปกติ และในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน อุปกรณ์ไอทีที่ใช้งานจากรถยนต์ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความต้องการใช้งานดังกล่าวสามารถเพิ่มขึ้นจากระดับ 0 เป็น 100% และลดลงเหลือเป็น 0% ได้ภายในวันเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวได้อย่างรวดเร็ว โดยส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าและระบบทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) สามารถลดการใช้พลังงานที่มากเกินความจำเป็นได้

ศูนย์ข้อมูลต้องมองหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการเกิดคาร์บอนได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนมักขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และอาจเป็นแหล่งพลังงานที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับศูนย์ข้อมูลเนื่องจากการเกิดไฟฟ้าดับจนทำให้ต้องหยุดทำงานสามารถสร้างความเสียหายได้สูงถึงเกือบสองแสนบาท ต่อนาทีเลยทีเดียว

ดังนั้น เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์ของพลังงานสะอาดได้อย่างเต็มที่ ศูนย์ข้อมูลจึงต้องเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะด้วย ซึ่งต่างจากโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิมที่มีทิศทางการไหลของไฟฟ้าเพียงทิศทางเดียวแต่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยให้สามารถสื่อสารแบบสองทางและไฟฟ้าสามารถไหลได้สองทิศทางระหว่างโรงไฟฟ้ากับบ้านพักอาศัย หรือธุรกิจได้

โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะนับเป็นทางเลือกที่รับมือได้ดีกว่าเนื่องจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้ใช้ประโยชน์จากพลังงานได้เต็มที่เมื่อมีในปริมาณที่มากเกิน และสามารถที่จะสลับไปใช้แหล่งจ่ายไฟอื่นๆได้อย่างต่อเนื่องเมื่อจำเป็น นี่เป็นกุญแจสำคัญในการควบรวมพลังงานหมุนเวียนเข้ากับระบบไฟฟ้าที่มีในปัจจุบัน ทำให้มีระบบที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างน่าเชื่อถือ มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับศูนย์ข้อมูลอีกด้วย

ด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ผู้ปฏิบัติงานศูนย์ข้อมูลสามารถมีบทบาทเป็นผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ โดยการติดตั้งเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนภายในพื้นที่ที่มีอยู่ ศูนย์ข้อมูลจะสามารถป้อนพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกลับคืนสู่โครงข่ายไฟฟ้าได้เมื่อภาระการใช้พลังงานของอุปกรณ์ไอทีอยู่ในระดับต่ำ ช่วยให้ศูนย์ข้อมูลสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนและเข้าใกล้เป้าหมายสุดท้ายของการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ไปอีกขั้น

อนาคตคือ ความอัจฉริยะ ความปลอดภัย และความยั่งยืน

เป็นที่ชัดเจนว่าศูนย์ข้อมูลแห่งอนาคตจะต้องสร้างขึ้นโดยยึดในหลักการของความยั่งยืน ผสมผสานเข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีรักษ์สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องการการออกแบบที่ก้าวล้ำและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ถึงกระนั้น ความรวดเร็วในการเปิดดำเนินการยังคงเป็นเรื่องสำคัญ การสร้างศูนย์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วขึ้น ช่วยให้มั่นใจถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในเวลาอันสั้น และความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อคว้าโอกาสการเติบโตอย่างรวดเร็ว

การลดความซับซ้อนในกระบวนการก่อสร้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ระบบแบบโมดูลแยกส่วนสามารถช่วยให้โครงการเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลาการก่อสร้างงจากมากกว่า 2 ปี เหลือเพียงแค่ 12-18 เดือน คล้ายกับการประกอบชิ้นเลโก้ โมดูลเหล่านั้นสามารถต่อเข้าด้วยกันและจะสามารถต่อเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้น ช่วยให้ศูนย์ข้อมูลสามารถปรับขนาดได้อย่างรวดเร็ว ให้รองรับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้วยการสร้างอย่างชาญฉลาดขึ้นดโดยใช้โซลูชั่นแบบโมดูลลาร์ ศูนย์ข้อมูลจึงสามารถคว้าโอกาสในตลาดศูนย์ข้อมูลที่กำลังเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความยืดหยุ่น และเติบโตได้ตามความต้องการ

การวาดภาพอนาคตของศูนย์ข้อมูลที่ปลอดภัย อัจฉริยะ และยั่งยืน

ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลเป็นหัวใจหลักของโลกดิจิทัลที่สำคัญ ซึ่งทำหน้าที่คอยสูบฉีดข้อมูลสำคัญต่อภารกิจต่างๆที่ขับเคลื่อนชีวิตของเราในเกือบทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความต้องการข้อมูลของเราเพิ่มมากขึ้น เรายังคงต้องทุ่มเทพัฒนาการดำเนินการสร้างและบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลต่อไป

ด้วยจำนวนศูนย์ข้อมูลที่ได้รับการสร้างและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา บริษัทต่างๆ ควรดำเนินการอย่างแน่วแน่ เพื่อกำหนดแนวทางไปสู่ศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและมีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อนั้นเราจะสามารถรักษาการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไปสู่ยุคดิจิทัลต่อไปได้

Links

Contact us

Downloads

Share this article

Facebook LinkedIn X WhatsApp