บทความนี้จะแนะนำให้ทราบถึงรูปแบบการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วและไฟดูดแบบแบ่งกลุ่มวงจรย่อยให้ต่อผ่าน และไม่ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด โดยเมื่อเกิดเหตุไฟรั่วหรือไฟดูดตัวอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดจะทำการตัดวงจรเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยยังคงได้รับความสะดวกจากการใช้ไฟจากวงจรอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหา
การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดในรูปแบบนี้ ทำได้โดยแบ่งกลุ่มวงจรไฟฟ้าย่อยทั้งหมดออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะเป็นวงจรย่อยที่ไม่ต้องการต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ส่วนวงจรย่อยกลุ่มที่สองจะต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดทั้งหมด
สำหรับการติดตั้งเบรกเกอร์ทั้งหมดภายในตู้คอนซูเมอร์ยูนิตทำได้โดยการต่อบัสบาร์ให้เชื่อมต่อจากเทอร์มินอลฝั่งสายไลน์ด้านขาออกของเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ผ่านไปยังเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อยกลุ่มแรกที่ไม่ต้องต่อ ผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ส่วนเทอร์มินอลด้านขาออกฝั่งสายนิวตรอลของเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ให้ต่อสายเข้ากับเทอร์มินอลนิวตรอลชุดที่หนึ่งที่อยู่ด้านบนของตู้คอนซูเมอร์ยูนิต
จากนั้นทำการติดตั้งวงจรย่อยที่ต้องการต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด โดยให้นำสายไฟด้านขาออกจากเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ทั้งสายไลน์ (Line) และ นิวตรอล (Neutral) ต่อเข้าเทอร์มินอลด้านขาเข้าของอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด จากนั้นก็ต่อบัสบาร์จากเทอร์มินอลด้านขาออกฝั่งสายไลน์ของอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดผ่านไปยังเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อยกลุ่มที่สองที่ต้องการต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ส่วนเทอร์มินอลด้านขาออกฝั่งสายนิวตรอลของอุปกรณ์ ป้องกันไฟรั่วให้ต่อเข้ากับเทอร์มินอลนิวตรอลชุดที่สองที่อยู่ด้านบนของตู้คอนซูเมอร์ยูนิต -> รูป 1
ข้อแนะนำ
วงจรประเภทปลั๊กไฟหรือเต้ารับ รวมถึงเครื่องทำน้ำอุ่นควรจะต้องต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด -> รูป 2
ข้อควรระวังในการติดตั้งคือ ต้องแยกสายนิวตรอลของวงจรที่ต่อผ่านและไม่ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดให้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด โดยห้ามเชื่อมต่อกันแม้แต่จุดเดียว เนื่องจากถ้ามีการเชื่อมต่อกันแม้เพียงจุดเดียวก็จะทำให้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดทำการตัดวงจรทันทีเมื่อมีการใช้ไฟในวงจรนั้นๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีไฟรั่วไฟดูดเกิดขึ้นจริงในระบบไฟฟ้าเลย
ข้อดีของการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดแบบแบ่งกลุ่มป้องกันวงจรไฟฟ้าเฉพาะบางวงจรภายในบ้าน ก็คือผู้ใช้ไฟสามารถเลือกติดตั้งบางวงจรที่ไม่จำเป็นต้องต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดได้ ทำให้เมื่ออุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดทำการตัดวงจร เราก็ยังคงมีไฟฟ้าใช้จากวงจรย่อยเหล่านั้นได้ ทำให้ผู้ใช้ไฟได้รับความสะดวกในการใช้ไฟฟ้า เช่น ถ้าผู้ใช้ไฟเลือกวงจรย่อยประเภทไฟแสงสว่างทางเดินให้ไม่ต้องต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด หากเกิดเหตุการณ์ไฟรั่วผิดปกติจนทำให้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดทำการตัดวงจรในช่วงเวลากลางคืน ผู้ใช้ไฟก็ยังคงมีไฟแสงสว่างตาม ทางเดินใช้งานได้อยู่ตามปกติ เพื่อความปลอดภัยและทำให้ผู้ใช้ไฟมีไฟแสงสว่างใช้ในขณะตรวจสอบปัญหาระบบไฟฟ้าเบื้องต้นอีกด้วย
ส่วนข้อควรระวังของการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดแบบแบ่งกลุ่มนี้คือ ผู้ใช้ไฟต้องหมั่นตรวจสอบและมีความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าจากวงจรที่ไม่ได้ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด
อย่างไรก็ดีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับป้องกันไฟรั่วไฟดูดแบบแบ่งแยกวงจรนั้นยังสามารถทำได้โดยการแยกป้องกันเฉพาะวงจรต่อวงจร โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า RCBO ขนาด 1โพล หรือลูกย่อยกันดูด 1 โพล ตามวงจร -> รูป 3 ซึ่งข้อดีของการติดตั้งอุปกรณ์ในรูปแบบนี้ คือตัวลูกย่อยกันดูดจะทำการตัดวงจรเฉพาะวงจรที่มีปัญหาเท่านั้น โดยวงจรอื่นๆ ที่เหลือก็ยังสามารถใช้งานได้ ตามปกติ แต่อาจจะต้องใช้งบประมาณในการติดตั้งที่ค่อนข้างสูง