ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ภายใน ตู้คอนซูเมอร์ยูนิตจะแบ่งเป็นสองระบบหลักๆ คือ ระบบ Bolt on และระบบ Plug on ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการติดตั้งในระบบที่ต่างกันนั้นจะไม่สามารถนำมาติดตั้งร่วมกันได้ โดยระบบ Plug on จะใช้ระยะเวลาการติดตั้งน้อยกว่า แต่ระบบ Bolt on จะมีจุดเด่นในด้านความคงทนในการใช้งานมากกว่า
ตู้คอนซูเมอร์ยูนิต -> รูป1 ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากพลาสติกหรือเหล็ก โดยตู้คอนซูเมอร์ยูนิตที่ผลิตมาจากพลาสติกนั้นจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าเหล็กในด้านความเป็นฉนวนและไม่เกิดสนิม นอกจากนี้พลาสติกที่นำมาผลิตตู้คอนซูเมอร์ยูนิตจะต้องเป็นพลาสติกทนความร้อนและไม่ลามไฟตามมาตรฐาน IEC ด้วย
การเดินสายไฟในตู้คอนซูเมอร์ยูนิต
สายไฟด้านขาเข้าของตู้คอนซูเมอร์ยูนิตนั้น ในระบบไฟฟ้าหนึ่งเฟสจะมีทั้งหมดสามสายคือ
1.สายไลน์ (Line)
2.สายนิวตรอล (Neutral)
3.สายดิน (Ground / Earth)
โดยสายไลน์จะถูกต่อเข้าโดยตรงจากมิเตอร์ถึงเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน สายนิวตรอลจะต้องต่อจากมิเตอร์เข้าเทอมินอลกราวนด์ในตู้คอนซูเมอร์ยูนิตก่อนแล้วจึงค่อยต่อเข้ากับเมนเบรกเกอร์ได้ตามข้อกำหนดของการไฟฟ้า ส่วนสายดินนั้นจะต่อตรงมาจากหลักดินที่บ้านมายังเทอมินอลกราวนด์ในตู้คอนซูเมอร์ยูนิต
การเดินสายไฟที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก -> รูป2 โดยจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสายเส้นใดคือสายไลน์ และสายเส้นใดคือสายนิวตรอล เพื่อป้องกันการลัดวงจรเมื่อต่อสายนิวตรอลเข้ากับเทอมินอลกราวนด์ก่อนต่อเข้าเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการต่อสายดินที่ถูกต้อง เพราะการต่อสายดินที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ใช้ ไฟฟ้าปลอดภัยจากไฟรั่วไฟดูด
การตรวจสอบหาวงจรที่มีปัญหาไฟรั่ว
ถ้าหากพบว่าอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดในตู้คอนซูเมอร์ยูนิตเกิดการทริป (Trip) จะมีวิธีตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อหาจุดที่มีไฟฟ้ารั่วได้ โดยเริ่มแรกให้ทำการปิด (off) เบรกเกอร์ย่อยทุกตัวที่ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด หลังจากนั้นให้เปิด (on) อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด และให้ทยอยเปิด (on) เบรกเกอร์ย่อยทีละตัว เพื่อทดสอบดูว่าเบรกเกอร์ย่อยวงจรใดที่เมื่อเปิดแล้วทำให้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดทริปลง จากนั้นเพื่อความปลอดภัยให้ปิดการใช้งานเฉพาะวงจรที่มีปัญหาดังกล่าวไว้ และทำการติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุและทำการแก้ไขให้เรียบร้อยต่อไป
ข้อควรพิจารณาเพื่อความปลอดภัย
สิ่งที่ควรทำ
1. ควรเลือกขนาดสายไฟให้เหมาะสมกับขนาดแอมป์ของเบรกเกอร์
2. ต้องต่อสายนิวตรอลจากมิเตอร์การไฟฟ้าฯ ลงดินก่อนที่จะเข้าเมนเบรกเกอร์ เพื่อให้มั่นใจว่านิวตรอลที่ต่อเข้าภายในที่พักอาศัยมีความต่างศักย์เป็นศูนย์จริง
3. ต้องติดตั้งระบบสายดินอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของการไฟฟ้าฯ
4. ควรพิจารณาให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า
5. ก่อนทำการซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในตู้ควบคุมไฟฟ้าควรปิดเมนเบรกเกอร์ (off) เพื่อความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. ห้ามต่อสายนิวตรอลของวงจรที่ไม่ได้ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดร่วมกันกับสายนิวตรอลของวงจรที่ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด
2. ห้ามใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดทำหน้าที่เป็นเมนแต่ควรใช้ควบคู่กับเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์
3. หากในระบบมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ห้ามไม่ให้มีการต่อบายพาสอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
4. กรณีใช้ฟิวส์ควบคุมวงจรไฟฟ้าหากฟิวส์ขาด ไม่ควรใช้ตัวนำทองแดงหรือตัวนำชนิดอื่นๆ มาเชื่อมต่อแทนที่ฟิวส์ แต่ต้องทำการเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์แทน