ระบบไฟฟ้าภายในอาคารและที่พักอาศัย เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทุกคนที่ควรจะต้องหา ข้อมูลความรู้และทำความเข้าใจกับระบบไฟฟ้า รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าในทุกๆ ด้าน หลายสาเหตุของอันตรายจากไฟฟ้ามักเกิดจากความเข้าใจที่ผิด หรือความไม่รู้ทั้งในระบบไฟฟ้า และการเลือกติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน จนกลายเป็นความประมาทโดยไม่ตั้งใจ บทความนี้จะ ยกตัวอย่างหรือประเด็นความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนไป เพื่ออธิบายและแนะนำในสิ่งที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกท่าน
Q : เบรกเกอร์ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็เหมือนๆกัน ใช้ปิด-เปิดเหมือนสวิตช์ไฟฟ้าเท่านั้น หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรก็ตัดเหมือนๆกัน
A : เบรกเกอร์นั้นไม่ได้มีหน้าที่แค่ใช้ปิด-เปิดไฟเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ตัดวงจรอัตโนมัติเนื่องจากกระแสไฟฟ้าเกินและกระแสไฟฟ้าลัดวงจรอีกด้วย โดยเบรกเกอร์ที่ดีจะต้องได้รับมาตรฐาน IEC ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ เบรกเกอร์ต้องตัดวงจรไฟฟ้าอย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เพราะจะ ช่วยป้องกันให้สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหายน้อยที่สุด โดยเบรกเกอร์ที่ตัดวงจรไฟฟ้า เนื่องจากการลัดวงจรอย่างรวดเร็วภายใน 0.003 วินาที นั้นเรียกว่าเป็นเบรกเกอร์แบบ Current Limiting
Q : ถ้าเบรกเกอร์มีราคาเท่ากันให้เลือกซื้อเบรกเกอร์ ที่มีขนาดแอมป์ (A) สูงเผื่อไว้ก่อนยิ่งมากยิ่งดีเพราะ สามารถใช้ไฟได้มากกว่าเพื่อความคุ้มค่า
A : เบรกเกอร์นั้นมีหน้าที่ป้องกันสายไฟฟ้าไม่ให้เสียหายหรือเกิดไฟลุกไหม้ อันเนื่องมาจากการใช้กระแสไฟฟ้าเกินกว่าที่สายไฟจะทนได้หรือหากเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรขึ้น ดังนั้นการเลือกซื้อเบรกเกอร์ที่มีขนาดแอมป์ (A) สูงไว้ก่อน หรือเลือกเบรกเกอร์ที่มีขนาดแอมป์สูงกว่าที่สายไฟฟ้าสามารถทนได้นั้น อาจจะทำให้เกิดเหตุอัคคีภัยขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการเลือกใช้เบรกเกอร์ที่มีขนาดกระแสใช้งานสูงไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
สิ่งที่ถูกต้องคือ การเลือกขนาดเบรกเกอร์นั้นต้องคำนึงถึงกระแสของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่เบรกเกอร์ทำการควบคุมและกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่สายไฟฟ้า สามารถทนได้โดยมีสมการง่ายๆ คือ
--> กระแสพิกัดของอุปกรณ์ไฟฟ้า < กระแสพิกัด ใช้งานเบรกเกอร์ < กระแสพิกัดสายไฟฟ้า
Q : เบรกเกอร์ทริปบ่อย แสดงว่าตัวเบรกเกอร์มีปัญหา
A : เหตุการณ์เบรกเกอร์ทริปบ่อยหรือตัดไฟบ่อยนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากระบบไฟฟ้าภายในบ้านรวมถึงการเลือกขนาดกระแสพิกัดใช้งานเบรกเกอร์ที่ไม่เหมาะสม ถ้าเกิดเหตุการณ์เบรกเกอร์ทริปบ่อยจะต้องตรวจหาสาเหตุก่อนว่าเกิดจากการใช้กระแสไฟฟ้าเกินหรือมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ จากนั้นให้ทำการแก้ไขให้ถูกจุดเช่น ต่อสายไฟฟ้าให้แน่นกรณีที่ ขั้วต่อสายไฟฟ้าหลุดหลวมหรือทำการเปลี่ยนขนาดเบรกเกอร์กรณีที่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน แต่ในกรณีนี้จะต้องคำนึงถึงขนาดกระแสพิกัดของสายไฟฟ้าด้วย โดย
--> กระแสพิกัดของอุปกรณ์ไฟฟ้า < กระแสพิกัด ใช้งานเบรกเกอร์ < กระแสพิกัดสายไฟฟ้า
Q : เสียบปลั๊กกับเต้ารับไม่แน่นทำให้เกิดอาร์ค (ความร้อนสูง) จนปลั๊กและเต้ารับละลาย แต่เบรกเกอร์ก็ยังไม่ทริป แสดงว่าเบรกเกอร์เสียหรือไม่ทำงาน
A : ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่การเกิดกระแสไฟฟ้าเกินรวมถึงไม่ใช่การเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้นเบรกเกอร์จึงไม่ทำการตัดวงจรการที่เกิดอาร์คขึ้นได้นั้นจะเกิดจากหน้าสัมผัสเชื่อมต่อที่เป็นตัวผ่านของกระแสไฟฟ้าเชื่อมต่อกันไม่แน่นสนิท ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นและเป็นต้นเหตุของการเกิดอัคคีภัยได้ ดังนั้นผู้ใช้งานควรตรวจเช็คดูให้แน่ใจทุกครั้งว่าได้เสียบปลั๊กเข้ากับเต้ารับอย่างแน่นสนิทแล้ว รวมถึงพิจารณาเลือกใช้เต้ารับหรือปลั๊กพ่วงที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง
Q : ตู้ไฟที่เป็นเหล็ก แข็งแรง ทนทานและปลอดภัยกว่าตู้ไฟแบบพลาสติก
A : แน่นอนว่าในเรื่องวัสดุที่เป็นเหล็กย่อมแข็งแรงกว่าพลาสติก แต่สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ตู้ไฟแบบพลาสติก ที่มีคุณภาพดีนั้นจะผลิตจากพลาสติกชนิดที่ ไม่ลามไฟและสามารถทนแรงกระแทกได้ดีระดับหนึ่งและสิ่งที่สำคัญก็คือ ตู้ไฟแบบพลาสติกนั้นมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า (ไม่เป็นตัวนำทางไฟฟ้า) และการติดตั้งตู้ไฟภายในอาคารที่พักอาศัยนั้นจะถูกติดตั้งในระดับที่สูงหรือแม้กระทั่งอาจจะติดตั้งอยู่ภายในตู้เฟอร์นิเจอร์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งในการติดตั้งใช้งานจริงก็จะติดตั้งเพียงครั้งเดียวไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายใดๆ จึงแทบไม่มีโอกาสที่ตู้ไฟจะได้รับความเสียหายจากการถูกกระแทกอย่างรุนแรง แต่ในทางกลับกันผู้ใช้งานอาจจำเป็นต้องมีการสัมผัสถูกตู้ไฟในระหว่างการเปิด-ปิดตู้ไฟเพื่อตรวจเช็ค หรือเปิด-ปิด เบรก-เกอร์ ดังนั้นคุณสมบัติความเป็นฉนวนจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
Q : ตู้ไฟที่มีระบบการติดตั้งเบรกเกอร์แบบรางดิน (DIN Rail) ตามมาตรฐานยุโรปนั้นติดตั้งยาก
A : การติดตั้งตู้ไฟที่มีระบบการติดตั้งเบรกเกอร์แบบรางดิน (DIN Rail) ตามมาตรฐานยุโรปหรือที่เรียกกันว่าเบรกเกอร์ระบบ Bolt On นั้นไม่ได้ติดตั้งยากอย่างที่ช่างผู้ติดตั้งเข้าใจกัน โดยมีขั้นตอนเพียงแค่ประกอบบัสบาร์เข้ากับด้านไฟเข้าของลูกย่อยและขันน๊อตเพียง 1 ตัวต่อ 1 วงจร จากนั้นในด้านไฟออกของเบรกเกอร์ย่อยก็นำสายไฟฟ้าที่จะเดินไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆมาต่อเข้าและขันน๊อต 1 ตัวต่อ 1 วงจรเช่นกัน โดยการติดตั้งวิธีนี้นั้นสามารถทำให้เราติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลากหลายภายในตู้ไฟ เช่น อุปกรณ์ตั้งเวลาเปิด-ปิด หรืออุปกรณ์ป้องกันแรงดันเกินเนื่องจากฟ้าผ่า รวมถึงยังเลือกวิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าได้หลากหลาย เช่น ใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดคุมทั้งบ้าน หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดคุมเฉพาะบางวงจร หรือแม้กระทั่งใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว ไฟดูดคุมวงจรต่อวงจรก็ทำได้เช่นกัน
Q : ตัวกันไฟรั่วไฟดูด หรือEarth Leakage Circuit Breaker หรือResidual Current Device ที่สามารถปรับตั้งค่าความไว (มิลลิแอมป์) ได้ย่อมดีกว่าแบบที่ปรับตั้งไม่ได้
A : ในประเทศไทยจะพบว่ามีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด บางประเภทสามารถให้ผู้ใช้งานปรับตั้งค่าความไว (mA) ซึ่งมีผลกับความไวในการตัดวงจร เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นและพบว่าในกรณีที่ผู้ใช้งานมีปัญหาระบบไฟฟ้าภายในที่พักอาศัยจนอุปกรณ์ฯทริปบ่อย ผู้ใช้งานจึงได้ทำการปรับตั้งค่าความไว (mA) ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายได้ปรับไปอยู่ที่ By Pass ซึ่ง หมายถึงการต่อวงจรไฟฟ้าแบบต่อตรงโดยไม่มีการป้องกัน แต่ปัญหาในระบบไฟยังคงมีอยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ปลอดภัยในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่ผู้อาศัยทั้งหมดในที่พักอาศัยนั้นมีโอกาสได้รับอันตรายจากไฟฟ้ามากขึ้นจนกลายเป็นเหตุการณ์สูญเสียที่ไม่คาดคิด อันเกิดจากความประมาทนั่นเอง
สิ่งที่ถูกต้องและควรปฏิบัติตามมาตรฐาน IEC ได้กำหนดไว้ว่า อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด หรือ Earth Leakage Circuit Breaker หรือ Residual Current Device นั้น ห้ามไม่ให้ทำการปรับตั้งค่าใดๆทั้งสิ้น รวมถึงห้ามต่อตรง (Direct หรือ By Pass) โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมาตรฐาน IEC ยังได้ระบุว่าการเลือกใช้ตัวกันไฟดูดที่ทำการตัดวงจรเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วไฟฟ้าดูดที่ 30mA นั้นเพียงพอและเหมาะสมทั้งในแง่การป้องกันชีวิตคนและการใช้งานอย่างดี
Q : ตัวกันไฟรั่วไฟดูด ทริปบ่อย แสดงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีปัญหาแน่นอน
A : เหตุการณ์ที่อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ทริปบ่อยนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากระบบไฟฟ้าภายในบ้านถ้าเกิดเหตุการณ์ตัวกันไฟดูดทริปบ่อย ควรจะต้องหาสาเหตุก่อนว่าเกิดจากวงจรใดเบื้องต้นให้ทำการปิด (OFF) ตัวเบรกเกอร์ย่อยทุกตัวที่ต่อผ่านอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด หลังจากนั้นให้เปิด (ON) อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด และให้ทยอยเปิด (ON) เบรกเกอร์ย่อยที่กล่าวถึงทีละตัวเพื่อไล่สังเกตดูว่าวงจรใดที่เมื่อเปิดเบรกเกอร์แล้ว ทำให้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ทริปลงทันที จากนั้นให้ปิดเบรกเกอร์เฉพาะวงจรที่พบปัญหาดังกล่าวไว้และทำการติดต่อช่างไฟฟ้าเพื่อให้เข้ามาทำการตรวจสอบหาสาเหตุและแก้ไขให้เรียบร้อยต่อไป
Q : ใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายๆอย่างโดยเสียบปลั๊กเข้ากับสายต่อพ่วงจนสายต่อพ่วงไหม้ แต่เบรกเกอร์ยังไม่ตัดเป็นเพราะอะไร
A : การต่อปลั๊กพ่วงเพื่อใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายๆชนิดนั้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ปลั๊กพ่วงมีความร้อนสะสม และอาจจะเกิดการลุกไหม้ได้ โดยเบรกเกอร์จะไม่ทำการตัดวงจรในกรณีนี้เพราะ โดยปกติสายปลั๊กพ่วงจะสามารถทนกระแสไฟได้แค่ 5-10A แล้วแต่ยี่ห้อผู้ผลิต แต่เบรกเกอร์ที่ใช้คุมวงจรเต้ารับภายในบ้านนั้น จะนิยมเลือกขนาด 16-20A ดังนั้นเมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเกินที่ปลั๊กพ่วงจะรับได้ แต่ยังไม่สูงถึงกระแสพิกัดของเบรกเกอร์ ปลั๊กพ่วงจึงเกิดความร้อนสะสมจนอาจจะทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้โดยที่เบรกเกอร์ยังไม่ตัดวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ตามหากเลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพดีนั้น จะมีฟิวส์ที่มีขนาดกระแสพิกัดเหมาะสมกับการใช้งานป้องกันตัวเองอยู่แล้วในเบื้องต้น
Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ยังทำงานได้ตามปกติ
A : บนตัวอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด จะมีปุ่มกด ให้ทดสอบการทำงาน (Test Button) และควรกดทดสอบเป็นประจำทุกเดือน โดยหลังจากกดปุ่มทดสอบแล้ว ก้านโยกของอุปกรณ์จะต้องทริปลง (Trip) มายังตำแหน่ง OFF ซึ่งแสดงว่าตัวอุปกรณ์ฯ ยังใช้งานได้ตาม ปกติ โดยวิธีนี้เป็นการทดสอบที่เชื่อถือได้และยังเป็นการทดสอบเพียงวิธีเดียวที่โรงงานผู้ผลิตแนะนำ การกดปุ่มทดสอบเพื่อจะทำการทดสอบทุกครั้งจะต้องทำการจ่ายไฟให้อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด เสมือนมีการใช้งานจริง
ทั้งนี้สามารถสรุปในภาพรวมได้ว่าการเลือกซื้อเบรกเกอร์เพื่อติดตั้งใช้งานป้องกันอันตรายจากไฟฟ้านั้น มีหลายปัจจัยที่ควรพิจารณาและให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ผู้ผลิต รวมถึงผู้ใช้งานเองควรให้ความสำคัญในการศึกษาข้อมูลของระบบไฟฟ้า สำหรับที่พักอาศัยในเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจในคุณสมบัติของอุปกรณ์ฯ ป้องกันต่างๆ และสามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยไม่ควรมอง แค่ปัจจัยทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว